ใครที่เล่นเครื่อง ds มาก่อนคงคุ้นกับเกมคุณภาพที่ชื่อว่า Professor Layton กันนะครับ ผมคิดว่าทั้ง 4 ภาคที่เคยลง ds ล้วนเป็นเกมคุณภาพที่ใช้ความสามารถของเครื่องได้สมบูรณ์มากเลยทีเดียว ไล่เรียงมาตั้งแต่ Professor Layton and the Curious Village (2007) , Professor Layton and the Diabolical Box (2007) , Professor Layton and the Unwound Future (2008) , Professor Layton and the Last Specter (2009) ทั้งกราฟฟิคแบบการ์ตูนอนิเมชั่น และแนวเกมที่เน้นการแก้พัซเซิ่ลโดยใช้จอทัชสกรีน และความยาวของเกมที่เล่นได้นานมากเกมหนึ่ง (ถ้าไม่แอบดูเฉลยนะ ^^) อย่างไรก็ตามผมเองก็อดห่วงไม่ได้ว่า Professor Layton and the Miracle Mask (2011) เมื่อถึงยุคถัดมาอย่าง 3ds ระบบเกมแบบนี้มันจะ เชยไปแล้ว หรือยัง อีกทั้งเวอร์ชั่นญี่ปุ่นที่ออกมาเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2011 ในเมืองไทยก็หาคนที่เล่นได้น้อยเต็มทน (ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเหตุผลด้านกำแพงภาษาด้วยล่ะครับ) สำหรับเวอร์ชั่น us เพิ่งจะได้เล่นเมื่อ 28 ตุลาคม 2012 ที่ผ่านมานี้เอง สารภาพตามตรงเลยครับว่าตอนที่ผมเห็นกล่องเกมนี้ ผมต้องดูมันให้ชัดๆแบบมองแล้วมองอีกว่าเป็นเวอร์ชั่น 3ds จริงหรือเปล่า สาเหตุก็เพราะว่ารูปปกมันแทบจะแยกกับภาคเดิมบน ds ไม่ออก ดูแล้วเป็นธีมเดียวกันเลยครับ (ถึงต้องดูคำว่า 3ds ให้แน่ใจ) แม้จะไม่ประทับใจในปกหน้าเท่าไหร่นัก (สำหรับผมนะ ส่วนคุณแม่ผมบอกว่าสวยดี ) แต่ภายในกล่องถือว่าโอเคเลยล่ะครับ ในนั้นมีแถมคู่มือสี 28 หน้า แถมโค้ดคลับนินเทนโด้ และมีแผ่นพับโฆษณาเกมดาวน์โหลดใน e-shop อย่างไรก็ตามจุดที่ทำให้ผมประทับใจมากกว่านั้นก็คือรูปแบบเกมเพลย์ที่พัฒนาขึ้นมาจาก ds จริงๆ (ก่อนเปิดเล่นผมค่อนข้างห่วงประเด็นนี้) เริ่มจากการ์ตูนอนิเมชั่นที่เป็น 3d polygon ในแนวเซลเฉด เวลาตัวการ์ตูนหันไปมามองออกเลยครับว่าสวยงามจริงๆ (หลายเกมมักจะใช้ภาพนิ่งๆ แล้วใช้ระบบซ้อนเลเยอร์ ไม่ได้ทำเป็น 3d polygon) ยิ่งมีระบบภาพ 3 มิติ ของเครื่อง 3ds เข้ามาด้วย เรียกได้ว่านำจุดเด่นนี้ไปโชว์ให้คนที่ลังเล 3ds ได้อย่างมั่นใจ เสียงพากษ์ในเกมมีการหยอกล้อพูดจากันอย่างได้อรรถรส แต่น่าเสียดายที่พอเข้าสู่เกมเพลย์จะมีบางช่วงที่มีตัวหนังสือ แต่ไม่มีเสียงพากษ์ ถ้าฟูลว้อยส์ได้ทั้งหมดคงสมบูรณ์แบบมากๆเลยล่ะครับ Professor Layton and the Miracle Mask มีเกมเพลย์หลักอยู่สองส่วน ส่วนแรกคือเกมที่คล้ายแนว จับผิดรูปภาพ (Investigation Mode) แต่ดูเหมือนภาคนี้จะไม่เน้นในส่วนนี้เท่าไหร่ สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือไอคอนที่ลากสำรวจในจอทัชสกรีน หากตำแหน่งนั้นมีบางสิ่งบางอย่างอยู่ มันจะบอกผู้เล่นทันที ทำให้การเล่นในรูปแบบไม่ต้องจิ้มมั่วซั่วเพื่อหาของอีกต่อไป ส่วนเกกมเพลย์อีกรูปแบบหนึ่งที่คนซื้อ Professor Layton น่าจะชอบส่วนนี้มากกว่านั่นก็คือ การแก้พัซเซิ่ล (Solving Puzzles) สิ่งหนึ่งที่ผมคาดหวังไว้ก็คืออย่างน้อยถ้าพัซเซิ่ลพวกนี้ไม่ซ้ำซากจำเจ และมีวิธีนำเสนอที่ต่างจากการหาเล่นได้ทั่วไปตามนิตยสาร มันก็มีคุณค่าให้น่าลองมากเลย ในส่วนนี้ก็ต้องให้เครดิตคุณ Akira Tago แห่งมหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ช่วยออกแบบพัซเซิ่ลในเกมให้หลากหลาย เล่นได้สนุกแบบเกมแนวแคชชวล แต่ก็มีเนื้อเรื่องที่ชวนติดตามและเล่นได้ยาวนาน อีกทั้งเมื่อเล่นไปตามเนื้อเรื่องก็ยังปลดล็อค Shop , Robot และ Rabbit เพื่อเล่นมินิเกมได้ ที่สำคัญยังสามารถต่อไวไฟเพื่อรับปริศนารายวัน (Daily Puzzle) มาฝึกเล่นทุกวันได้อีกด้วย ผมคิดว่า Professor Layton and the Miracle Mask เป็นเกมแนวพัซเซิ่ลที่สมบูรณ์ที่สุดในขณะนี้ แม้เกมอื่นจะพยายามเดินตามรอย Professor Layton แต่เมื่อเทียบกับระบบที่พัฒนาขึ้นมาในภาคนี้ ดูเหมือน Professor Layton จะก้าวนำไปข้างหน้าอีกก้าวแล้วล่ะครับ (เกมนี้จำเป็นต้องใช้ความรู้ทางภาษาอังกฤษด้วยนะครับ) รีวิวโดย limp2551 |