แนะนำหนังดี To Rome with Love

First Post Last Post  
RakGames 20 กรกฎาคม 2555 , 09:24:57


พอดีไปดูมาก่อนรอบสื่อมวลชน ก่อนทุบทิ้งโรงหนังลิโด หนังฟอร์มเล็กตลกขบขันสไตล์ วู้ดดี้ อัลเลน เข้าโรง 23 นี้ครับ แนะนำสำหรับคนชอบหนังตลกปนรักเบาสมอง

Review By. Anurak_sk
บทความต้นฉบับ www.Khanpak.com

โลกนี้มีคนอยู่หลายจำพวก 108 นิสัย... มุมมอง... ทัศนะ... ต่างคน ต่างนิสัย โลกมายาฟิลม์เหมือนกัน 108 ผู้กำกับก็ 108 ทัศนะความคิด... เฉกเช่น ทัศนะเพี้ยนแฝงสาระของชายร่างเล็ก วู้ดดี้ อัลเลน ผู้กำกับ/นักแสดง ที่เคยสรรค์สร้างหนังรักตลกร้าย Annie Hall จนสามารถคว้ารางวัลออสการ์หนังยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยมสำเร็จมาแล้วเมื่อปี 1977




เวลาผ่านไปกว่าสามทศวรรษทัศนะของผู้ชายร่างเล็กคนนี้ยังคงมองโลกอย่างมีอารมณ์ขันเชิงไร้สาระ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ มารยาทสังคม วัฒนธรรม ล้วนเป็นสิ่งที่เข้าใจยากและน่ารำคาญสำหรับเขา ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวลงแผ่นฟิลม์ยี่ห้ออัลเลน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อยกเว้น เป็นประเด็นให้ อัลเลน หยิบยกขึ้นมาเชิดชูในหนังของเขาอยู่เรื่อย ๆ นั่นคือ “ความรัก” ความรักหลากหลายมิติเรื่องราวที่ล้วนตั้งตนอยู่ในกรอบประเด็น “ความรักทำให้โลกเพี้ยน ๆ ใบนี้น่าอยู่ขึ้น” ความรักเป็นข้อยกเว้นสำหรับเขา ความรักคือเรื่องราวโรมานต์ดั่งดอกกุหลาบที่วางอยู่ใจกลางสี่แยกถนนที่เต็มไปด้วยรถยนต์วิ่งกันขวักไขว่ เฉกเช่นธีมหนัง To Rome With Love ผลงานล่าสุด วู้ดี้ อัลเลน ที่ได้รวมเอานักแสดงระดับโปรคับคั่ง Jesse Eisenberg, Penelope Cruz, Judy Davis, Alec Baldwin, Roberto Benigni, Ellen Page, Greta Gerwig และตัวผู้กำกับ Woody Allen ที่งานนี้ขอร่วมแจมแสดงด้วย




To Rome with Love เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองโรม ที่ประกอบไปด้วยความสับสนอลหม่านของคน 4 กลุ่ม จอห์น สถาปนิกชื่อดังอเมริกันที่กำลังหวนกลับไปใช้ชีวิตแบบวัยหนุ่มอีกครั้ง พร้อมกับได้ค้นพบคนหนุ่ม แจ็ค ที่เหมือนตัวเขาในอดีต, เจอรี่ ผู้กำกับโอเปราที่กำลังผลักดันสัปเหร่อให้กลายเป็นดาวดังบนละครเวที, ลีโอโปลดี้ หนุ่มวัยกลางคนธรรมดา ๆ ที่พบว่าจู่ ๆ ตัวเองก็กลายเป็นเซ็เล็บแห่งกรุงโรม และคู่ผัวเมียข้าวใหม่ปลามันที่ถูกดึงดูดไปพบกับความรักที่แสนโรแมนติค ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่คู่ของตัวเอง




ในหนัง To Rome With Love อัลเลน ยังคงมีทัศนะเกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ มันช่างเป็นเรื่องเข้าใจยาก น่ารำคาญ ทั้งระหว่างคน หรือสังคม คล้ายกับหนังเรื่องก่อน ๆ ของเขาอย่าง Annie Hall ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความรักคู่ผัวเมียข้าวใหม่ปลามัน อันโตนิโอ (อเลสซันโด ทิเบรี่) และ มิลลี่ (อเลสซานดรา มาสโทรนาร์ดี้) ที่อัลเลน มองว่า ความรักที่ดูเหมือนสุกกรอบเข้าที่แล้วใช่ว่ามันจะลงเอย Happy Ending เสมอไป ทัศนะของ อัลเลน จากหนังเรื่องก่อน ๆ ของเขายังคงอบอวลอยู่ในหนังเรื่องนี้ “ความสุขก็แค่โอกาสที่มาแค่ครั้งคราวประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็จากไป ไม่จีรังเท่าความทุกข์ที่คนเป็นมนุษย์ต้องเผชิญมันอยู่ร่ำไป” จริงอยู่ว่าความรักคือสิ่งสวยงามในสายตา อัลเลน แต่สัจธรรมวัฒนธรรมหนังอัลเลน “ความรัก” ก็คือความสุขที่มากับโอกาส วันนี้เราอาจสุข แต่ใช่ว่าความสุขที่มากับโอกาสนี้จะหลีกทางให้ความทุกข์เคาะประตูเรียกหาเมื่อใด เราไม่มีทางรู้ได้ว่าสัมพันธภาพคู่ผัวเมียบนโลกใบนี้ วุ่นวาย คาดเดายาก วันดีคืนดีจะหย่าขาดจากกันวันไหน คนที่เรารักเป็นคนที่เชื่อใจได้ขนาดไหน แบบเดียวที่ อันโตนิโอ จับได้ว่าเมียเขา มิลลี่ แอบไปกินข้าวกับชายอื่นใจกลางกรุงโรม บางครั้งการที่เรามั่นใจในสัมพันธภาพเรา 100% ก็ใช่ว่ามันจะจีรัง “สัจธรรมวัฒนธรรมหนังอัลเลน”




ขณะเดียวกันสัมพันธภาพด้านเนื้อหนังระหว่าง อันโตนิโอ และ แอนนา (เพเนโลปี้ ครูซ) ผู้หญิงหากิน กลับเป็นความเข้าใจที่สื่อผ่านกันแบบห่าม ๆ แต่มันก็ดูจริงใจ จรรโลงใจ กว่าเวลาที่ อันโตนิโอ และ มิลลี่ อยู่ด้วยกันซะอีก การแสดงออกของ แอนนา บทพูด ตอกย้ำให้เธอดูเป็นคนตรง จริงใจ ค้นพบตัวเองแล้วมากกว่า มิลลี่ ที่เหมือนยังมีเครื่องหมาย ? ปักอยู่บนหัว การแสดงออกของ แอนนา ดูจะไม่มีตัวกรองพฤติกรรมทางด้านสังคมในความคิดของเธอเลย จึงไม่แปลกที่การตัดสินทางสังคม การยอมรับทางสังคมของเธอจะเป็นศูนย์ ในหมู่คนชนชั้นสูง จุดนี้อัลเลน ได้แดกดันคนชั้นสูงอย่างเจ็บแสบด้วยเช่นกัน กับประเด็นการถูกยอมรับในสังคมในรูปแบบของคนอาชีพอย่างเธอ จากฉากที่เหล่าหนุ่มธุรกิจลูกค้าเก่ามาจอแจ ถ้านี่คือการยอมรับในสังคม อาชีพโสเภณีก็น่าจะได้รับการยอมรับจากคุณด้วยเหมือนกัน? จากคนชนชั้นสูงเช่นคุณ...




ขณะที่ลุคผู้หญิงใสซื่อบริสุทธ์อย่าง มิลลี่ ไม่แปลกที่คนเป็นพ่อผัวแม่ผัวมาเห็นครั้งแรกจะเทคะแนนให้เมื่อดูจากรูปลักษณ์จากภายนอกกว่าโจทย์สาวอย่าง แอนนา มันเป็นบทแดกดันตลกร้ายมาก ๆ ของ อัลเลน ที่สื่อถึงความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ทุก ๆ สิ่ง ทุก ๆ อย่าง การตัดสินคนจากรูปลักษณ์ คือสิ่งที่มนุษย์สมมุติฐานขึ้นมาเองทั้งนั้น เหมือนกับการแนะนำตัวละคร มิลลี่ ช่วงแรกของซีเควนท์นี้ ที่เผยรูปลักษณ์ให้คนดูเข้าใจว่าเธอเหมาะกับการเป็นลูกสะใภ้ ก่อนอัลเลน จะค่อย ๆ กระเทาะปอกเปลือกอีกตัวตนของ มิลลี่ ให้เราเห็น ต่างกับความจริงใจของ แอนนา ผู้หญิงหากินที่พูดตรง แสดงตรง ผ่านการแสดงออกทางคำพูดและทางกายแบบห่าม ๆ โดยไม่กังวลผลลัพธ์ที่จะตามมา




อัลเลน แดกดันอย่างมีนัยยะ สถานการณ์ได้เผยตัวตนที่แท้จริงคน ๆ หนึ่ง จากพื้นฐานความต้องของมนุษย์ที่ให้ความสำคัญ (สุด) แตกต่างกันไป และเมื่อใดที่ต่อมนั้นถูกกระตุ้น ศีลธรรมก็ใช่ว่าจะสำคัญอีกไปต่อไปสำหรับมนุษย์ (บางคน) ตัวอย่างเช่น มิลลี่ ดูเกลียดชังที่ต้องกลายเป็นคนธรรมดา และเมื่อเธอได้เจอกับดาราหนังในดวงใจ ลูก้า ซัลด้า (อัลโตนิโอ อัลบานิส) ความลุ่มหลงในตัว ลูก้า ซัลด้า ที่ มิลลี่ มีอยู่แล้ว ผ่านการแสดงออกกึ่งโอเวอร์แอ็คติ้ง ก็ได้เผยนิสัยเธอกลาย ๆ ใช่ว่าเธอเองจะเป็นคนเรียบร้อย เป็นสุภาพสตรีอย่างที่ อันโตนิโอ นิยามกับ แอนนา ว่าเธอเป็น “นางฟ้า” และเมื่อ ลูก้า ซัลด้า รู้ว่าเธอชื่นชอบในตัวเขามากขนาดไหน รวมถึงได้รู้ว่าเธอเองต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคมผ่านการเล่าเรื่องปานโรมานต์ ความฝันของเธอที่หวังจะได้งานดี ๆ ทำในโรม ตั้งตนชีวิตใหม่กับสามี ก็เข้าทาง ลูก้า ซัลด้า ทันทีนำจุดอ่อนเธอไปใช้เป็นเครื่องมือเยินยอโน้มน้าวให้เธอนอนด้วย (เกือบสำเร็จ)




ขณะที่เรื่องราวของ ลีโอโปลโด้ (โรแบร์โต้ เบญินี่) อัลเลน วางประเด็นเรื่องของมนุษย์ที่ต้องการเป็นที่ยอมรับทางสังคมเป็นประเด็นหลัก นำเสนอกึ่ง ๆ หนังตลกหลุดโลก เรื่องราวความฝันเฟื่องไกลตัวที่หวังได้เชยชม ตัวละคร ลีโอโปลโด้ ไม่แย่ถึงขนาดเป็นตัวละครประเภท Underdog แต่ก็จัดอยู่ในจำพวกผู้ชายน่าเบื่อสุด ๆ มนุษย์เงินเดือนวัยกลางคน อาชีพไม่รุ่งเป็นแค่เสมียน พร้อมกับลูก ๆ ภาระตามหลัง อัลเลน เล่นแง่ความรู้สึก ความฝัน การก้าวถึง ของมนุษย์เงินเดือนที่มีลูกเมีย ภาระที่อยากหลุดพ้น ช่วงแนะนำตัวละคร ลีโอโปลโด้ เหมือนว่า อัลเลน ได้กระแทกความรู้สึกคนดูกลุ่มนี้แรงไปสักนิด แต่มันก็ได้แฝงนัยยะ แง่คิด ตลกแดกดัน ข้อดีของการเป็นคนธรรมดา ข้อเสียของการเซ็เล็บ แตรส่งเสือนเตือนเราให้กลับมาสนใจสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวมากกว่านี้ “จงรักในสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่เป็นอยู่”




ลีโอโปลโด้ ดูจะไม่พอใจในโลกแห่งความเป็นจริงที่ตัวเองเผชิญอยู่ มีเปรียบเทียบสรีสะ ความสาว สวย ระหว่างเมียตัวเองกับสาวฮอตในบริษัท ชีวิตเขาเต็มไปด้วยการตั้งคำถามสไตล์คนเดินดิน? ชีวิตเซเล็บ? หนังอาร์ตกับความเข้าใจ? จนวันหนึ่งเมื่อเขาตื่นขึ้นมาพบว่าเขาได้กลายเป็นเซเล็บที่ดังที่สุดในอิตาลี คำถามที่เคยหมุนอยู่ในหัวเขาติ้ว ๆ เมื่อเป็นคนดังเราจะ Good Feel แค่ไหนก็ค่อย ๆ ถูกเฉลยคำตอบออกมา ความดัง ความอาร์ต บนโลก ลีโอโปลโด้ ที่เราเห็นในหนังคือมุกตลกแดกดันสไตล์วัฒนธรรมหนังอัลเลน ที่ยังวางธีมอยู่บนหลักการตั้งสมมุติฐานไร้สาระของมนุษย์บนโลกใบนี้ เมื่อคุณเป็นดาราดังหรือผู้กำกับหนังอาร์ต การสร้างสรรค์ผลงานแบบข้าเข้าใจคนเดียวแล้วให้คนดูตีโจทย์หนัง 108 – 1009 ก้ำกึ่งว่านี่คือผลงานศิลปะ ไม่เข้าใจแต่ช่างล้ำลึก... ล้วนเป็นเรื่องสมมุติฐานของผู้สร้างและคนวิจารณ์นั้น ๆ ยกตัวอย่าง ฉากที่ ลีโอโปลโด้ ให้สัมภาษณ์นักข่าว เรื่องกาแฟ การโกนหนวด มื้อเช้าที่ชอบกิน รวมไปถึงถุงน่องเมียที่ขาด เรื่องไม่ใช่เรื่องพวกนี้ล้วนได้รับความสนใจครึกโครมจากสื่อ ทั้งที่มันไม่น่าใช่เรื่องให้น่าพิศมัยแต่กลับถูกชวนพิศมัย จนอาจเลยเถิดถึงขั้นเป็นงานศิลปะ สัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ในสังคมในมุมมองของ อัลเลน จึงดูเป็นเรื่องน่ารำคาญ ไร้สาระแบบสุดโต่งในสายตาของเขา




ขณะเดียวกันเมื่อวันหนึ่ง ลีโอโปลโด้ ถูกแทนที่โดยเซเล็บคนใหม่ เขากลับได้เรียนรู้ชีวิตอันแสนมีค่าของการเป็นคนธรรมดาติดดินว่ามันช่างอเมซิ่งเพียงใด อัลเลน เหมือนต้องการจะบอกความพอดีดูจะไม่มีอยู่บนโลกใบนี้ ความสุขที่ได้มาหลังจากเคยหวังมันก็แค่ลมที่พัดเข้าหน้าต่างเย็นวูบประเดี๋ยวประด๋าว เหมือนกับวงจรเซเล็บมายาลวง ความนิยม เห่อตามกระแส นั่นก็แค่ผลลัพธ์ของทฤษฎีที่สื่อโอเวอร์แอ็คติ้งในหนังตั้งสมมุติฐานขึ้นมาไว้ยกยอปอปั้นคนที่อยากจะให้เป็น โลกแห่งความฝันหลุดโลกของ ลีโอโปลโด้ จึงได้สร้างภาพขนานให้เราเห็นเด่นชัด ความฝันอันไร้สาระที่เราเดินตามสัมพันธภาพเพี้ยนสุดโต่งที่สังคมวางกรอบไว้ กับโลกแห่งความเป็นจริงที่แม้จะดูโหดร้ายบ้าง แต่ก็ยังดูไร้สาระน้อยกว่าสัมพันธภาพระดับสังคมที่ ลีโอโปลโด้ เผชิญและไม่มีทางเป็นตัวของตัวเองได้เลย อัลเลน เหมือนตั้งใจบอกเราจงยอมรับความจริงที่อยู่ตรงหน้า ไม่อย่างนั้นก็จงเจริญรอยตาม ลีโอโปลโด้ ชีวิตคู่ขนานระหว่างความจริงกับความฝัน การถูกยอมรับทางสัมพันธภาพระหว่างผู้คนกลุ่มแคบแม้จะดูไร้สาระ แต่ก็ยังน่ารัก ชวนพิสมัยมากกว่าการถูกยอมรับทางสัมพันธภาพระหว่างสังคมกลุ่มกว้างที่ทั้งไร้สาระ ดูไม่น่ารัก อีกทั้งไม่จริงใจเอาซะเลย




ความต้องการพื้นฐานในจิตใจมนุษย์เฝ้าหวังได้ถูกยอมรับทางสังคม ยังถูกนำเสนอเป็นประเด็นหลักอีก 2 เรื่องราว เจอรี่ (อัลเลน) และ โมนิก้า (เอลเลน เพจ) โดยผ่านการเปรียบเปรยเรื่องราวอดีต และปัจจุบัน ผ่านทางวัตถุสถานกรุงโรมที่ห้อมล้อมไปด้วยอนุสรณ์สถานในอดีต และความอึกทึกครึกโครมของนครหลวงสมัยใหม่ การหวังเป็นที่ยอมรับทางสังคม ความคาดหวัง สมหวัง ผิดหวัง ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมุติฐานขึ้นมาเองทั้งนั้น และมันก็ยังคงเป็นเรื่องไร้สาระ เรื่องน่ารำคาญในสายตา อัลเลน เฉกแนวคิดที่ถูกฝังอยู่ในหนัง Annie Hall แต่ประเด็นเรื่อง “ความรัก” ก็ยังถูกจัดเป็นให้เป็นหมวดยกเว้นทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นในหนัง To Rome with Love ในสายตาของ อัลเลน ผ่านคำถามที่ยิงถึงเรา \"ได้เวลายอมรับตัวเองในโลกแห่งความเป็นจริงที่ตัวเองเผชิญอยู่แล้วหรือยัง... พร้อมที่จะรักคนที่ไม่สมบูรณ์ที่อยู่ข้าง ๆ คุณในวันนี้แบบเต็มเหนี่ยวได้หรือยัง...\"

คะแนนรวม: 7.5 - 10